วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ท่องเที่ยววัดในอยุธยา :: วัดใหญ่ชัยมงคล


เดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วจะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัต มหาเถรในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดคณะป่าแก้ว ต่อมาเรียกให้สั้นลงว่า “วัดป่าแก้ว” ต่อมาคนเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้ พระราชาธิบดีจึงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน์มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวาคู่กับพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น“วัดเจ้าพระยาไทย” สันนิษฐานว่ามาจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสร้างวัดป่าแก้วขึ้น ณ บริเวณที่ซึ่งได้ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าแก้วเจ้าไทยหรืออาจมาจากการที่วัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า “เจ้าไทย” ฉะนั้นเจ้าพระยาไทยจึงหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราช ในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ การสร้างพระเจดีย์อาจสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่หรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ก็ได้ ไม่มีหลักฐานแน่นอน ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” แต่ราษฎรเรียกว่า “พระเจดีย์ใหญ่” ฉะนั้นนานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล” วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย และเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้ นอกจากนี้ยังมี วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นที่ถวายสักการะบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีผู้นิยมไปนมัสการอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก ค่าเข้าชม ต่างชาติ คนละ 20 บาท

ท่องเที่ยววัดในอยุธยา :: วัดไชยวัฒนาราม


ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 (พ.ศ. 2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2173 ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

สิ่งที่น่าชมภายในวัด ได้แก่

พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เป็นปรางค์ประธานของวัดตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสและที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้งสี่มุม การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลายทรงสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัดเท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัดเช่นการสร้างปรางค์ที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ เนื่องมาจากพระองค์ทรงได้เขมรมาอยู่ใต้อำนาจจึงมีการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรเข้ามาใช้ในการก่อสร้างปรางค์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระระเบียงรอบปรางค์ประธาน ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงหลอกเป็นรูปลายกุดั่น พระอุโบสถ อยู่ด้านหน้าของวัดภายในมีซากพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทราย ใบเสมาของพระอุโบสถทำด้วยหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยามและลายก้านขด และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ 2 องค์ ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 12 เมตร ซึ่งถือเป็นศิลปะที่เริ่มมีแพร่หลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง วัดไชยวัฒนารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะตลอดมาจนปัจจุบันไม่มีสภาพรกร้างอยู่ในป่าอีกแล้ว และยังคงมองเห็นเค้าแห่งความสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งผู้ไปเยือนไม่ควรพลาดชมอย่างยิ่ง

เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างประเทศ 220 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดมเหยงค์ วัดไชยวัฒนาราม, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท

หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30- 21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

การเดินทาง สามารถใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง ได้แก่

ทางเรือ ท่านอาจเช่าเหมาเรือหางยาวจากบริเวณหลังลานจอดรถฝั่งตรงข้ามพระราชวังจันทรเกษมด้านตะวันออกของเกาะเมือง ล่องไปตามลำน้ำป่าสักลงไปทางใต้ผ่านวิทยาลัยการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดพุทไธศวรรย์ โบสถ์โปรตุเกส วัดไชยวัฒนาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร และเจดีย์พระศรีสุริโยทัยอันสง่างามอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การเดินทางมีรสชาติไปอีกแบบหนึ่งโดยเฉพาะเวลาพลบค่ำจะเห็นภาพบริเวณวัดไชยวัฒนารามงดงามมาก

ทางรถยนต์ สามารถใช้เส้นทางเดียวกับวัดกษัตราธิราช แต่พอข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชไปแล้วให้เลี้ยวขวาแล้วตรงไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นวัดไชยวัฒนารามตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ทางด้านหน้า

ท่องเที่ยววัดในอยุธยา :: วัดพระศรีสรรเพชญ์


ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตรในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือและอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวังและโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ.2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดาและองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ต่อมาในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปี พ.ศ.2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา (16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯและบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า “เจดีย์สรรเพชญดาญาณ”

สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์หนึ่งครั้งในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน 07.00–18.30 น.

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างประเทศ 220 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดมเหยงค์ วัดไชยวัฒนาราม, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานศิลปากรที่ 3 โทร. 0 3524 2501, 0 3524 2448 หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3524 2284, 0 3524 2286

หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

ท่องเที่ยววัดในอยุธยา :: วัดพนัญเชิงวรวิหาร


ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลคลองสวนพลู ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร หรือเมื่อออกจากวัดใหญ่ชัยมงคล ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ

วัดพนัญเชิงเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทานนามวัดว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง” หรือ "วัดพระนางเชิง"พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1867 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี เดิมชื่อ “พระพุทธเจ้าพนัญเชิง” (พระเจ้าพะแนงเชิง) แต่ในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” (ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโต ชาวจีนนิยมเรียกว่าซำปอกง ผู้คุ้มครองการเดินทางทางทะเล) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอู่ทองปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 19.13 เมตร ฝีมือปั้นงดงามมาก เบื้องหน้ามีตาลปัตรหรือพัดยศ และพระอัครสาวกที่ทำด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและขวา อาจนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง เข้าใจว่าเมื่อสร้างพระองค์ใหม่เสร็จแล้วจึงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นคลุมอีกทีหนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อคราวพระนครศรีอยุธยาจะเสียกรุงแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง ส่วนในพระวิหาร เสาพระวิหารเขียนสีเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสีแดงที่หัวเสามีปูนปั้นเป็นบัวกลุ่มที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น ผนังทั้งสี่ด้านเจาะเป็นซุ้มเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กโดยรอบจำนวน 84,000 องค์เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนประตูทางเข้าด้านหน้าซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นบานประตูไม้แกะสลักลอยตัวเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมา เป็นลักษณะของศิลปะอยุธยาที่งดงามมากแห่งหนึ่ง พระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูป 5 องค์ ศิลปะสุโขทัย วิหารเซียน อยู่ด้านหน้าของพระวิหารหลวงเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งแต่เดิมมีภาพจิตรกรรมเขียนไว้บนผนังทั้งสี่ด้าน แต่ถูกโบกปูนทับไปแล้วเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์ ข้างในพระวิหารหลังนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยา ศาลาการเปรียญ หลังเก่าย้ายจากริมแม่น้ำมาอยู่ด้านหลังของวัด เป็นศาลาทรงไทยสร้างด้วยไม้ หน้าบันประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ บริเวณคอสอง(ขื่อ) ด้านในศาลามีภาพเขียนสีบนผ้าเป็นภาพพุทธประวัติอยู่โดยรอบ มีตัวอักษรเขียนไว้ว่าภาพเขียนสีนี้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2472 ภายในศาลามีธรรมาสน์อยู่ 1 หลังสลักลวดลายสวยงามเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ภายในวัดพนัญเชิงยังจะพบ ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ก่อสร้างเป็นตึกแบบจีนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในเครื่องแต่งกายแบบจีน ชาวจีนเรียกว่า “จูแซเนี๊ย” เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนทั่วไป สำหรับชาวต่างประเทศเสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาท

งานประเพณีทิ้งกระจาดจัดเป็นประจำทุกปี ในช่วงกลางเดือน 7 ของจีน หรือตรงกับเดือน 9 ของไทย (ประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน)

ความเชื่อและวิธีการบูชา ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง โดยเชื่อว่าหากทำการค้าขายใด ๆ แล้วมาตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าหลวงพ่อ จะทำให้ซื้อง่ายขายคล่อง การค้าร่ำรวย และการงานรุ่งเรือง ถ้ามีเด็กเล็กที่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย นำมาถวายให้เป็นลูกของหลวงพ่อ หรือจุดธูปเทียนอธิษฐาน บารมีของท่านจะปกป้องคุ้มครอง ช่วยให้หายวันหายคืน ส่วนใหญ่นิยมบนบานด้วยการถวายผ้าห่มหลวงพ่อโต ซึ่งเชื่อว่าท่านจะอวยพรให้สัมฤทธิ์ผลดังใจหมาย

พระนครศรีอยุธยา

417 ปีแห่งการเป็นราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศ ประกอบด้วย ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 33 พระองค์ โดยมีปฐมกษัตริย์ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระนครศรีอยุธยาจึงนับเป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ตลอดระยะเวลา 417 ปี ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เป็นเพียงช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของชนชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์อารยธรรมของหมู่มวลมนุษยชาติซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศอีกด้วย แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายเสียหายจากสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านหรือจากการบุกรุกขุดค้นของพวกเรากันเอง แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ยังมีร่องรอยหลักฐานซึ่งแสดงอัจฉริยภาพและความสามารถอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษแห่งราชอาณาจักรผู้อุทิศตนสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม และความมั่งคั่งไว้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทย หรือแม้แต่ชาวโลกทั้งมวล จึงเป็นที่น่ายินดีว่าองค์การยูเนสโก้ โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติรับนครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย-อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรโดยจะมีผลให้ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาที่ประเทศต่างๆได้ทำร่วมกัน จึงสมควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ไปศึกษาเยี่ยมชมเมืองหลวงเก่าของเราแห่งนี้

สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นโบราณสถาน ได้แก่ วัด และพระราชวังต่างๆ พระราชวังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอยู่ 3 แห่ง คือ พระราชวังหลวง วังจันทรเกษมหรือวังหน้า และวังหลัง นอกจากนี้ยังมีวังและตำหนักนอกอำเภอพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส ได้แก่ พระราชวังบางปะอิน ในเขตอำเภอบางปะอิน และตำหนักนครหลวง ในเขตอำเภอนครหลวง

ภูมิประเทศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ แม่น้ำป่าสักไหลผ่านทางทิศตะวันออก และแม่น้ำลพบุรี (ปัจจุบันเป็นคลองเมือง)ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ แม่น้ำสามสายนี้ไหลมาบรรจบกันโอบล้อมรอบพื้นที่ของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ตัวเมืองจึงมีลักษณะเป็นเกาะ เราจะเห็นบ้านเรือนปลูกเรียงรายหนาแน่นตามสองข้างฝั่งแม่น้ำแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำมายาวนาน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 76 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,556 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอนครหลวง อำเภอภาชี อำเภอบ้านแพรก อำเภอบางซ้าย อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอบางบาล อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอเสนา อำเภออุทัย อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอท่าเรือ และอำเภอวังน้อย